รากเหง้า หรือต้นตอ หรือสาเหตุ ของความเศร้าหมองใจ หรือรากเหง้าของกิเลส

เมื่อใจเศร้าหมองแปลว่าใจมีกิเลส กิเลสจึงแปลว่า เศร้าหมอง เมื่อไปเป็นแฟคเตอร์หรือองค์ประกอบกับสิ่งใหน ก็จะทำให้สิ่งนั้นๆ เศร้าหมองไปด้วย เช่น เมื่อเกิดที่ใจก็ทำให้ใจเศร้าหมอง  เมื่อไปเกิดที่เหล็ก ก็ทำให้เหล็กเศร้าหมอง คือเป็นสนิม เพราะฉะนั้นกิเลสของเหล็กก็คือสนิมนั่นเอง

"เมื่อท่านมองเลยปลายนิ้วที่ชี้ ท่านถึงจะเห็นดวงจันทร์"

หมายถึง คำสั่งสอนทุกอย่างของท่านผู้รู้ทั้งหลายคือกุศโลบายหรือเป็นอุปมาเปรียบเทียบ เพื่อให้จิตใจของแต่ท่าน ได้เข้าถึงสภาวะธรรมนั้นๆ ตามจริตของตนที่ได้สั่งสมมานั่นเอง


อกุศลมูล ๓

อกุศล  = ความไม่ฉลาด, มูล = รากเหง้า แปลตามตัวอักษรว่า รากเหง้าของความไม่ฉลาด หมายถึง รากเหง้าหรือต้นตอของความชั่วทั้งปวง เมื่อกำเริบจะแสดงออกมาเป็นทุจริตทางกาย วาจา ใจ รวมเป็นเหตุให้เกิดกิเลสมี ๓ ประการ คือ

๑. โลภะ ความอยากได้  คือ ความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อยากให้ตนมีเหมือนคนอื่น หรือมีมากกว่าผู้อื่น 


ความอยากมีหลายรูปแบบซึ่งจะก่อให้เกิดรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง เช่น 


อิจฉา ความอยาก 
ปาปิจฉา  ความอยากอย่างชั่วช้าลามก 
มหิจฉา  ความอยากรุนแรง 
อภิชฌาวิสมโลภะ  ความอยากได้ถึงขั้นเพ่งเล็ง 


ความอยากจะเกิดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความชั่วในตัวเอง วิธีแก้ไขความอยาก คือการใช้สติ ระลึกรู้ในตน สติปัฏฐาน ช่วยได้ดีมากเป็นทางตรงไม่อ้อม และเป็นทางสายเดียวเท่านั้น ที่จะให้ถึงที่หมายได้เร็วสุด

๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย  คือ ความคิดประทุษร้าย ได้แก่ การอยากฆ่า อยากทำลายผู้อื่น 


ความคิดประทุษร้ายเป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้หลายอย่าง เช่น ปฏิฆะ ความหงุดหงิด 
โกธะ ความโกรธ 
อุปนาหะ ความผูกโกรธ 
พยาบาท ความคิดปองร้าย 


ถ้าปล่อยให้มีโทสะมาก ผู้นั้นจะเป็นคนชั่ว คนพาล และเป็นภัยต่อสังคม 


วิธีแก้ไขโทสะ คือการใช้สติระงับตน และฝึกตนให้เป็นผู้มีเมตตา คือฝึกข่มใจตนเองไม่ให้โกรธ เจริญเมตตาให้มากๆ หรือสติปัฏฐาน เป็นทางเดียวไม่อ้อมเป็นทางตรง แม้ไม่ปราถนา แต่หากเดินไปถูกทาง ก็จะถึงจุดหมายที่ไม่ได้ตั้งไว้โดยสมบูรณ์


โมหะ ความหลงไม่รู้จริง  ได้แก่ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความมัวเมา ความประมาท เป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้ต่างๆ มากมาย เช่น มักขะ ลบหลู่คุณท่าน 
ปลาสะ ตีเสมอคุณท่าน
มานะ ถือตัว 
มทะ มัวเมา 
ปมาทะ เลินเล่อ 


โมหะทำให้ขาดสติ ไม่รู้ผิดชอบร้ายแรงกว่าโลภะ และโทสะ รวมทั้ง
ส่งเสริมให้โลภะและโทสะมีกำลังมากขึ้นยิ่งด้วย 


วิธีที่จะทำให้โมหะลดลงนั้นจะต้องปฏิบัติตนเป็นผู้ที่มีสติ เจริญให้มาก จะทำให้เกิดสมาธิ และจะเกิดมีปัญญา รู้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงในกาลถัดไป เจริญสติปัฏฐานสี่ให้มากให้บริบูรณ์ จักเห็นและจักจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้


บางสิ่งบางอย่าง หรือหลายสิ่งหลายอย่างรวมกัน ที่ทำให้ใจเราเศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน อุปกิเลส 16


ถ้าเราลองพิจารณาดูใจของเราเล่นๆ คือ เพียงแค่ลองมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะคิด จะพูดหรือ จะทำ และเมื่อเราตั้งสมาธิพิจารณา เมื่อสงบสมาธิเราตั้งมั่น เราจะเห็นคือเกิดปัญญาเห็นแจ้งในใจ ทำให้เรารู้และเห็นอาการของจิต มีลักษณะต่าง ๆ  


และมันจะเกิดขึ้นในลักษณะต่างกัน ตามเฟกเตอร์หรือองค์ประกอบ เช่น สถานการณ์ บุคคล หรือสิ่งแวดล้อม


ทำให้เข้าใจจริตนิสัยของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง เน้นตามความเป็นจริง สิ่งนี้ก็จะเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง อย่างดีเยี่ยม




เมื่อมีสติรู้สึกตัวแล้ว ก็จะไม่หลงไปตามอารมณ์  หรือหลงก็รู้ตัวว่าหลงอยู่  มันจะมีความรู้สึกตัวเองขึ้นมาทันที  จิตใต้สำนึกหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็จะทำงานทันทีโดยอัตโนมัติ


กิเลสเป็นอาคันตุกะคือผู้ที่จรมา เข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตใจเศร้าหมอง 


กิเลส นั้น แปลว่า เศร้าหมอง 
มีคำถามว่า อะไรเศร้าหมอง?  
: ก็ใจนั่นแหละที่เศร้าหมอง 


อกุศลมูล คือรากหรือเหง้าของกิเลส มีอันได้แก่ 
โลภะ คือความละโมบ อยากได้
โทสะ คือความโกรธ โมโหโทสัน
โมหะ ความหลงสติ ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง 

เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่าง ๆ มี 16 ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส 16 ได้แก่


๑. อภิชฌาวิสมโลภะ คือความละโมภ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว เป็นอาการอย่างหนึ่งของโลภะ


๒. พยาบาท คือความคิดร้าย มุ่งร้าย คืมุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มี
    ซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


๓. โกธะ คือความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


๔. อุปนาหะ คือการผูกโกรธ 
    เช่นใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีต ว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


๕. มักขะ คือการลบหลู่คุณท่าน ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น


๖. ปลาสะ คือการตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้


๗. อิสสา คือความริษยา เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี


๘. มัจฉริยะ คือความตระหนี่ ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร


๙. มายา คือเจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่คุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น


๑๐. สาเถยยะ คือการโอ้อวด หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข


๑๑. ถัมภะ คือความดื้อ ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง


๑๒. สารัมภะ คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้


๑๓. มานะ คือความถือตัว ทะนงตน


๑๔. อติมานะ คือการดูหมิ่นท่าน ความถือตัวว่าเราดียิ่งกว่าเขา ทำให้ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น


๑๕. มทะ คือความัวเมา หลงว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังไม่ตาย หลงในอำนาจ หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปแล้วทำอะไรเกินเหตุ


๑๖. ปมาทะ คือความประมาท เลินเล่อ ไม่คิดให้รอบคอบ อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา


สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นกิเลสที่สั่งสมมาเป็นภพเป็นชาติตลอดสังสารวัฏที่หาเบื้องต้นและเบื้อปลายมิได้


สิงที่จะทำให้ผู้ที่ต้องการเห็นตนเองรู้จักตนเอง เพียงมีสติเจริญให้มาก ทำให้มาก ทำให้เป็นประดุจยานต์ เป็นที่ตั้งของสติ นั้นคือสติปัฏฐานสี่ เพิ่งศึกษาและทำความเข้าใจให้เห็นแจ้ง. 


จะเป็นพลานิสงส์อย่างมากสุดที่จะประมาณได้.

10 วิธี การทำบุญ หรือ ทำบุญอย่างไร? วิธีการทำบุญ หนทางแห่งการทำบุญ การทำบุญด้วยอาการ 10 อย่าง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10

วิธีทำบุญยังมีอีก 10 วิธี

ท่านเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑๐




ปุญฺญ ( ความดี ,เครื่องชำระสันดานให้สะอาด ) + กิริยา ( การกระทำ ) + วตฺถุ ( ที่ตั้ง ) เมื่อรวมความแล้วคือ

ที่ตั้งแห่งการกระทำความดี  ๑๐  อย่าง    ซึ่งหมายถึงว่า  เป็นกุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการกระทำออกมาทางกาย  วาจา หรือทางใจ  ได้แก่ 


๑.  ทานมัย      บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น


๒.  ศีลมัย        บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริต  ทางกาย  วาจา


๓.  ภาวนามัย  บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถ) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง(วิปัสสนา)


๔.  อปจายะนะมัย    บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน


๕.  เวยยาวัจจะมัย   บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น


๖.  ปัตติทานมัย    บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว


๗.  ปัตตานุโมทนามัย     บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว


๘.  ธัมมัสสวนมัย   บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม


๙.  ธัมมเทสนามัย  บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม


๑๐. ทิฏฐุชุกรรม     การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง

บุญกิริยาวัตถุ  ๑๐  ย่อสงเคราะห์ลงเหลือบุญกิริยาวัตถุ  ๓  คือ  ทานมัย  ศีลมัย  และภาวนามัย  ก็ได้  


เพราะ ปัตติทานมัยและปัตตานุโมนามัย  เกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องของการให้                จึงสงเคราะห์เป็นทานมัย      


ส่วน อปจายนะมัยและเวยยาวัจจะมัยเกี่ยวข้องกับการประพฤติทางกาย  และทางวาจา   จึงสงเคราะห์เป็นศีลมัย   


ธัมมัสสวนะมัยและธัมมเทสนามัยก็เป็นเหตุ ให้เกิดสติปัญญา                              จึงสงเคราะห์เป็นภาวนามัย 


ส่วนทิฏฐุชุกรรมสงเคราะห์ ได้ทั้งเรื่องทาน  เรื่องศีล  และภาวนา    เพราะเมื่อมีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามเป็นจริงแล้ว  ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลขั้นอื่นให้เจริญไพบูลย์  และมีผลานิสงส์มาก