รากเหง้า หรือต้นตอ หรือสาเหตุ ของความเศร้าหมองใจ หรือรากเหง้าของกิเลส

เมื่อใจเศร้าหมองแปลว่าใจมีกิเลส กิเลสจึงแปลว่า เศร้าหมอง เมื่อไปเป็นแฟคเตอร์หรือองค์ประกอบกับสิ่งใหน ก็จะทำให้สิ่งนั้นๆ เศร้าหมองไปด้วย เช่น เมื่อเกิดที่ใจก็ทำให้ใจเศร้าหมอง  เมื่อไปเกิดที่เหล็ก ก็ทำให้เหล็กเศร้าหมอง คือเป็นสนิม เพราะฉะนั้นกิเลสของเหล็กก็คือสนิมนั่นเอง

"เมื่อท่านมองเลยปลายนิ้วที่ชี้ ท่านถึงจะเห็นดวงจันทร์"

หมายถึง คำสั่งสอนทุกอย่างของท่านผู้รู้ทั้งหลายคือกุศโลบายหรือเป็นอุปมาเปรียบเทียบ เพื่อให้จิตใจของแต่ท่าน ได้เข้าถึงสภาวะธรรมนั้นๆ ตามจริตของตนที่ได้สั่งสมมานั่นเอง


อกุศลมูล ๓

อกุศล  = ความไม่ฉลาด, มูล = รากเหง้า แปลตามตัวอักษรว่า รากเหง้าของความไม่ฉลาด หมายถึง รากเหง้าหรือต้นตอของความชั่วทั้งปวง เมื่อกำเริบจะแสดงออกมาเป็นทุจริตทางกาย วาจา ใจ รวมเป็นเหตุให้เกิดกิเลสมี ๓ ประการ คือ

๑. โลภะ ความอยากได้  คือ ความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อยากให้ตนมีเหมือนคนอื่น หรือมีมากกว่าผู้อื่น 


ความอยากมีหลายรูปแบบซึ่งจะก่อให้เกิดรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง เช่น 


อิจฉา ความอยาก 
ปาปิจฉา  ความอยากอย่างชั่วช้าลามก 
มหิจฉา  ความอยากรุนแรง 
อภิชฌาวิสมโลภะ  ความอยากได้ถึงขั้นเพ่งเล็ง 


ความอยากจะเกิดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความชั่วในตัวเอง วิธีแก้ไขความอยาก คือการใช้สติ ระลึกรู้ในตน สติปัฏฐาน ช่วยได้ดีมากเป็นทางตรงไม่อ้อม และเป็นทางสายเดียวเท่านั้น ที่จะให้ถึงที่หมายได้เร็วสุด

๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย  คือ ความคิดประทุษร้าย ได้แก่ การอยากฆ่า อยากทำลายผู้อื่น 


ความคิดประทุษร้ายเป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้หลายอย่าง เช่น ปฏิฆะ ความหงุดหงิด 
โกธะ ความโกรธ 
อุปนาหะ ความผูกโกรธ 
พยาบาท ความคิดปองร้าย 


ถ้าปล่อยให้มีโทสะมาก ผู้นั้นจะเป็นคนชั่ว คนพาล และเป็นภัยต่อสังคม 


วิธีแก้ไขโทสะ คือการใช้สติระงับตน และฝึกตนให้เป็นผู้มีเมตตา คือฝึกข่มใจตนเองไม่ให้โกรธ เจริญเมตตาให้มากๆ หรือสติปัฏฐาน เป็นทางเดียวไม่อ้อมเป็นทางตรง แม้ไม่ปราถนา แต่หากเดินไปถูกทาง ก็จะถึงจุดหมายที่ไม่ได้ตั้งไว้โดยสมบูรณ์


โมหะ ความหลงไม่รู้จริง  ได้แก่ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความมัวเมา ความประมาท เป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้ต่างๆ มากมาย เช่น มักขะ ลบหลู่คุณท่าน 
ปลาสะ ตีเสมอคุณท่าน
มานะ ถือตัว 
มทะ มัวเมา 
ปมาทะ เลินเล่อ 


โมหะทำให้ขาดสติ ไม่รู้ผิดชอบร้ายแรงกว่าโลภะ และโทสะ รวมทั้ง
ส่งเสริมให้โลภะและโทสะมีกำลังมากขึ้นยิ่งด้วย 


วิธีที่จะทำให้โมหะลดลงนั้นจะต้องปฏิบัติตนเป็นผู้ที่มีสติ เจริญให้มาก จะทำให้เกิดสมาธิ และจะเกิดมีปัญญา รู้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงในกาลถัดไป เจริญสติปัฏฐานสี่ให้มากให้บริบูรณ์ จักเห็นและจักจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้